อับเดตข่าวสารและโปรโมชั่นจาก maneedee.com

รวมเรื่องราวดีๆ สุขภาพ การกิน การอยู่ การใช้ชีวิต ปรัชญา เสริมกำลังใจ ที่นี้ maneedee.com

ไวรัสอีโบลา คืออะไร??

อีโบล่า

 

ข้อมูลโดย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ  ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และที่ปรึกษา กรมควบคุมโรค

       

       โรคไข้อีโบลา คือ โรคไข้เลือดออกจากไวรัสอีโบลา ซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรงมาก อุบัติใหม่ในแอฟริกาเมื่อปี 2519 ขณะที่โรคไข้เลือดออกในเกาหลีเกิดจากไวรัสฮันตาน ส่วนโรคไข้เลือดออกในไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ศรีลังกา ปากีสถาน ฯลฯ เกิดจากไวรัสเด็งกี

       

      การระบาดครั้งแรกของไวรัสอีโบลา

       

       เมื่อปี 2519 มีการระบาดเป็นครั้งแรกของโรคไข้เลือดออกชนิดใหม่ที่อุบัติใหม่อีกชนิดหนึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศซูดานและประเทศซาอีร์ ชื่อ "อีโบลา" ชื่อนี้ได้มาจากชื่อแม่น้ำอยู่ตรงบริเวณที่พบโรคในตอนเริ่มแรกคือ ที่แถบลุ่มแม่น้ำอีโบลา ในประเทศซาอีร์ ก็เลยตั้งชื่อโรคและชื่อของไวรัสตัวก่อเหตุตามชื่อแม่น้ำดังกล่าว

       

      ผู้ป่วยดรรชนี (Index case) รายแรกของโลก 26 สิงหาคม 2519 ที่ประเทศ ซาอีร์ แอฟริกา

       

       ผู้ป่วยรายแรกซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยดรรชนีเป็นชายอายุ 44 ปีเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนมิชชันนารี ไปขอรับการรักษาที่ “โรงพยาบาลมิชชั่นนารียัมบูกุ” ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2519 ด้วยอาการไข้ซึ่งคิดว่าเป็นไข้จับสั่น (มาลาเรีย) และได้รับการรักษาโดยการฉีดคลอโรควิน ซึ่งมีอาการทุเลาขึ้น

       

       ในเวลาต่อมาภายใน 1 สัปดาห์มีคนไข้ในโรงพยาบาลได้รับการฉีดยาโดยใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนไข้รายดรรชนีให้หลับ (ปกติเราจะไม่ใช้เข็มฉีดยาที่ยังไม่ได้ฆ่าเชื้อร่วมกัน) หลังจากนั้นก็ป่วยเป็นไข้เลือดออกอีกหลายคน บางรายไม่ได้รับการฉีดยาแต่เป็นผู้ที่ไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะป่วยอยู่ระหว่าง 4 สัปดาห์แรกของการระบาดหลังจากนั้นโรงพยาบาลจึงได้ปิดการให้บริการเนื่องจากแพทย์ 11 นาย จาก 17 นาย ที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลแห่งนี้ป่วยและตาย

       

      โรคนี้แพร่โรคติดต่อกันได้จากการสัมผัสกันด้วย เรียกว่ามีการแพร่ติดต่อ จากคน- สู่ -คน 

       

       ผู้ป่วยเกิดขึ้นทุกกลุ่มอายุและทั้งสองเพศ แต่สตรีอายุระหว่าง 15-29 ปี จะเป็นกลุ่มที่มีความชุก อัตราป่วยชุกกว่ากลุ่มอื่น

       

       สรุปได้ว่าการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยเกิดจากการถูกเข็มแทงและของมีคมปนเปื้อนเชื้อทำให้เกิดบาดแผลและการแต่งศพ และแพร่โรคติดต่อจาก ผู้ป่วย-สู่-ผู้ป่วย จากการสัมผัสใกล้ชิดได้ด้วย อย่าลืมว่า โรคไข้เลือดออกเด็งกีที่พบในบ้านเรา แพร่ติดต่อได้ เฉพาะโดนยุงลายบ้านที่มีเชื้อกัดเท่านั้น

       

       ประมาณ 5 สัปดาห์ภายหลังการระบาดครั้งแรกที่ยัมบูกุประเทศซาอีร์ นพ.ซูโร ได้ศึกษาลักษณะทางเวชกรรมของผู้ป่วย 14 ราย ดังนี้

       

       ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ปวดท้อง เจ็บคอ หน้าตาไร้ความรู้สึก มีอาการอ่อนเพลียอย่างมาก ในบางรายประมาณวันที่ 5 ของระยะเฉียบพลันของโรค จะมีผื่นขึ้นตามตัวและมีเลือดออกด้วย มีเลือดออกที่เยื่อบุตา มีแผลตามริมฝีปากและในช่องปาก มีเลือดออกจากแผลดังกล่าว และ ออกจากเหงือก อาเจียนเป็นเลือด และ ถ่ายอุจจาระดำเลือด กำเดาไหล มีเลือดออกจากช่องหู ปัสสาวะเป็นเลือด และ บางรายมีอาการตกเลือดหลังคลอดด้วย ในรายที่มีเลือดออกมักจะถึงแก่กรรมภายใน 3 สัปดาห์ผู้ป่วยในระยะหลังของการระบาด อาการเลือดออกจะมีความรุนแรงน้อยลงกว่ารายแรกๆ ของการระบาด ในรายที่มีเลือดออกไม่รุนแรง หรือไม่มีเลือดออกเลย มักจะไม่ถึงแก่กรรม แต่ก็ไม่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด ว่ามีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือดหรือไม่ เนื่องจากเป็นการฉุกเฉิน และเป็นการศึกษาในสนาม อุปกรณ์ในการศึกษาวิจัยไม่ได้มีครบครัน

       

 จากการสำรวจทุกบ้านพบว่ามีโรคระบาดอยู่ 55 ตำบล (ทั้งหมดมี 550 ตำบล) โรคนี้ไม่เคยเป็นที่รู้จักของชาวบ้านมาก่อนเลย

       

       ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้น ก็สามารถแยกเชื้อไวรัสที่มีรูปร่างคล้ายไวรัสมาร์บวร์กแต่ก็แสดงความแตกต่างกันได้อย่างชัดเจน โดยปฏิกิริยาน้ำเหลือง

       

       ไวรัสที่พบใหม่นี้ จึงได้รับการขนานนามว่า “ไวรัสอีโบลา (Ebola virus)” ตามชื่อแม่น้ำที่อยู่ในถิ่นที่มีการระบาด และ แยกเชื้อไวรัสได้ การแยกเชื้อไวรัสแยกได้จากเลือดของผู้ป่วย 8 รายจาก 10 รายโดยเพาะในเซลล์เพาะพันธุ์เวโร ไวรัสนี้จึงเรียกว่าไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซาอีร์หรือ Ebola-Z

 

ไวรัสอีโบลา เจ้ามาแต่หนใด?

 

อีโบล่า คือ อะไร

ภาพจุลทรรศน์อิเล็กตรอนของไวรัส อีโบล่า รูปพรรณเป็นเส้นด้าย (จาก utmb.edu)

 

 

       จากการที่เพาะแยกไวรัสได้ต่างสายพันธุ์กัน ทำให้แน่ใจได้ว่า การระบาดในประเทศซูดานและในประเทศซาอีร์นั้น ย่อมมิใช่การแพร่ของโรคจากประเทศแรกเข้าไปยังประเทศหลัง ต่างคนต่างเกิด

       

       การระบาดของโรคลดความรุนแรงลงเมื่อมีการหยุดการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน (กระบอกฉีดยาและเข็มขาดแคลนจึงมีการนำไปใช้ร่วมกันหลายคนหลายครั้ง) และยังมีมาตรการแยกกักกันผู้ป่วยมิให้ออกนอกหมู่บ้านการใช้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่างมิดชิดและถูกต้องของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล การกำจัดวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อที่ถูกวิธี ก็ทำให้สามารถป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อต่อไปอีกได้ การติดต่อส่วนใหญ่จะติดต่อจากเลือด การติดจากละอองฝอยของน้ำมูกน้ำลายอาจเกิดขึ้นได้แต่มีโอกาสน้อยกว่า และไม่ติดกันโดยทางอากาศหายใจ (air-borne)ไม่สามารถแยกไวรัสได้จากแมลง เช่น ตัวเรือด (Cimexhemipterus F.) ยุงคิวเล็กซ์และยุงแมนโซเนีย ซีรัมของสัตว์ต่างๆที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เช่น สุกร โค ค้างคาว หนู กระรอกลิงไม่พบว่ามีแอนติบอดีต่อไวรัสอีโบลา (หมายความว่าไม่มีการติดเชื้อ) แต่อย่างใด จึงหาแหล่งรังเก็บเชื้อโรคในธรรมชาติไม่ได้ หรือแหล่งรังโรค อยู่ใหนยังเป็นปริศนา

       

       การระบาดครั้งแรก ในประเทศซูดานมีผู้ป่วย 284 คนโดยมีอัตราป่วย/ตายเท่ากับร้อยละ 53 เชื้อที่ก่อโรคเป็น ไวรัสเรียกชื่อจำเพาะมากขึ้นว่าอีโบลา-ซูดานหรือสายพันธุ์ซูดาน Ebola-S

       

       อีกไม่กี่เดือนต่อมาโรคก็อุบัติขึ้นที่เมืองยัมบูกุประเทศซาอีร์อีก เชื้อก่อโรคเคือสายพันธุ์ “อีโบลา-ซาอีร์” มีผู้ป่วยในการระบาดครั้งแรก 318 คนอัตราป่วย/ตายสูงกว่า การระบาดในซูดานคือสูงถึงร้อยละ 88 แม้ว่าจะมีการศึกษาค้นคว้าอย่างมากก็ยังพิสูจน์แหล่งรังโรคที่แน่ชัดไม่ได้อยู่ดี

       

       การระบาดของโรคไข้เลือดออกอีโบลารายงานจากประเทศไอวอรีโคสท์ในปี 2537 โดยมีสตรี นักชาติพันธุ์วิทยา ทำการผ่าตรวจซากลิงชิมแพนซีที่ล้มตายไม่ทราบสาเหตุที่ในป่าชื่อป่าตาย (Tai Forest) ในประเทศไอวอรีโคสท์ เธอจึงติดเชื้อโดยบังเอิญและป่วย สายพันธุ์นี้จึงให้ชื่อว่าอีโบลาโคทดีวัวร์ (ชื่อประเทศไอวอรีโคสท์ที่เป็นภาษาฝรั่งเศส)

       

       ในปี 2532 มีการระบาดของไวรัสอีโบลาในฝูงลิงแสม ที่กักกันสัตว์ทดลองที่ไปจากต่างประเทศ ที่สถานีกักกันโรคเมืองเรสตัน รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นลิงแสมที่ส่งไปจากฟาร์มเฟอร์ไลท์ ชานกรุงมะนิลา เป็นลิงที่เพาะไว้จำหน่ายเพื่อใช้เป็นสัตว์ทดลองที่ฟาร์มแห่งหนึ่งบนเกาะมินดาเนา ลิงจะถูกกักกันไว้ก่อนส่งต่อไปยังห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่นำโรคจากป่ามาแพร่ในเมือง โดยเฉพาะแพร่สู่นักวิจัยเป็นเบื้องต้น

       

       ในระหว่างกักกันลิงได้ล้มเจ็บลงหลายตัวเกือบทั้งฝูง และมีอัตราตายสูง การสอบสวนและตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการพบว่าเป็น “ไวรัสอีโบลา” หากลิงติดเชื้อ โรคจะเกิดแก่ลิงที่มีความรุนแรงมาก อัตราตายสูง แม้ว่าจะก่อให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ได้เหมือนกัน (พิสูจน์ได้จากการตรวจเลือดผู้สัมผัสใกล้ชิดเช่นผู้เลี้ยงและสัตวแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพลิง) แต่กลับไม่ก่อโรคที่มีอาการป่วยดังเช่นสายพันธุ์ซาอีร์และสายพันธุ์ซูดานจึงเรียกชื่อสายพันธุ์ไม่นี้ ว่า “สายพันธุ์เรสตัน” Ebola-R

       

       นอกจากนั้นก็มีรายงานการระบาดของไวรัสอีโบลาสายพันธุ์เรสตันในลิงแสมที่สถานีกักกันสัตว์ในรัฐเท็กซัส และเป็นลิงแสมที่นำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์เช่นกัน อีโบลาเรสตันนี่เองที่พบว่าไประบาดอยู่ในสุกรฟิลิปปินส์เมื่อ 2-4 ปีก่อน เหมือนกัน ไวรัสอีโบลาข้ามจากลิงไปหาสุกรได้อย่างไร ก็ยังเป็นปริศนาคาใจกันอยู่

       

 

       ในปี 2557 เกิดมีการระบาดของอีโบล่า ในแอฟริกาตะวันตกขึ้นอีกจะขอเล่าโดยสังเขปดังนี้

       

       เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2557 องค์การอนามัยโลกได้รับแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุข ประเทศกีนีว่ามีการระบาดของโรคไข้เลือดออกอีโบลาในเขตป่าทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ จนถึงวันที่ 25 มีนาคม มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 86 ราย ตาย 60 ราย (อัตราป่วย/ตายเท่ากับ ๖๙.๗%) มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์-สาธารณสุขป่วยและตายด้วย 4 ราย และยังมีรายงานผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยในประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกันอีกหลายรายที่กำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวน ชันสูตร ค้นคว้าอยู่อีกหลายราย คือ ในประเทศ ไลเบเรียและ เซียยร่า เลโอนโดยได้ส่งเลือดตัวอย่างไปชันสูตรโดยวิธีพีซีอาร์ที่หอชันสูตรโรคติดเชื้อระหว่างประเทศที่ เมืองลียอง ประเทศฝรั่งเศส ก็ยืนยันได้ชัดเจนว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ ซาอีร์

 

ไวรัสอีโบลา เจ้ามาแต่หนใด?

 

Ebola คือ อะไร

       แผนที่ประเทศกินี ตรงสีทึบคือบริเวณที่โรคระบาด ที่รายงานเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่สีจางคืออยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค

       

    โรคแพร่ระบาดต่อไปในประเทศกีนี และไปยังประเทศใกล้เคียงดังนี้

       

    สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัส Ebola วันที่ 17 เมษายน 2557 ในทวีปแอฟริกา ได้แก่:

       

       ประเทศ Guinea: มีรายงานผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับ Ebola virus Disease จำนวน 202 ราย เสียชีวิต 125 รายและผู้ป่วยยืนยัน 108 ราย

       

       ประเทศ Liberia: มีรายงานผู้ป่วย ที่มีอาการเข้าได้กับ Ebola Virus Disease จำนวน 27 ราย เสียชีวิต 13 รายและผู้ป่วยยืนยัน 6 ราย และ

       

       ประเทศ Mali : มีรายงานผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย 6 ราย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อ

       

       องค์การอนามัยโลก: ไม่แนะนำให้มีการจำกัดการเดินทางหรือการค้ากับประเทศกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน แต่อย่างใด

       

       องค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ว่าผู้ป่วยอีโบลาในประเทศกินีเพิ่มขึ้นอีก รวมจำนวนสะสมได้ 208 ราย ตาย 136 ราย เป็นบุคลากรทางแพทย์และสาธารณสุข 25 ราย ตาย 16 ราย

       

 

       การประเมินความเสี่ยงของประเทศไทย: สำนักโรคอุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประเมินว่า การแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา อาจมาสู่ประเทศไทยได้ 2 วิธี ได้แก่ จากการนำเข้าสัตว์ที่ อาจเป็นแหล่งรังโรค เช่น สัตว์ป่า ลิงชิมแปนซี หรือการแพร่เชื้อของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา จากประเทศนี้จะทำให้มีอาการป่วยโดยที่มีการระบาดโดยผ่านผู้เดินทาง เข้ามาประเทศไทยจากประเทศที่มีโรคกำลังระบาด

       

  โรคนี้ ยังไม่มียาหรือปฏิชีวนะรักษาที่จำเพาะ ต้องรักษาแบบประคับประคองและรักษาตามอาการ และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค

       

      มาตรการกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย 

       

       1.ติดตามสถานการณ์ความคืบหน้า จากองค์การอนามัยโลกโดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

       

       2.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค

       

       3.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตรียมความพร้อมในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข

       

       ประชาชนชาวไทย ยังไม่ต้องตระหนก เพียงแต่ให้ตระหนักให้รับรู้กันเอาไว้และติดตามข่าวเป็นระยะๆ นะครับ

 

ข้อมูลจาก : manager.co.th